“ชีกิมหยง”ชื่อที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง

นอกเหนือจาก “ขุนนิพัทธ์จีนนคร” , พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) และพระยาอรรถกวีสุนทร ที่ถือว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่บุกเบิกตลาดหาดใหญ่ ที่บ้านโคกเสม็ดชุน เมื่อ ๗๐ – ๘๐ ปีก่อน ชื่อของ “ซีกิมหยง” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยกว่า ๓ คนแรก อันเห็นได้จากผลงานที่คนรุ่นหลัง ได้ประกาศเกียรติคุณให้ไว้ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นรูปเหมือน หรือสถานที่ต่างๆ ที่มีชื่อหรือสกุลท่านบันทึกอยู่

นายชีกิมหยง เกิดที่บ้านเจาพู อำเภอเจียวหลิ่ง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชา-ชนจีน เป็นบุตรคนโตของนายซียิซาน (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านขุนศุภสาร)

ชีกิมหยง กำเนิดมาในลักษณะของบุคคลมีบุญ มีปัญญาหลักแหลมจิตใจเอื้ออารี ใฝ่กุศล รู้จักมองการณ์ไกลอันเป็นลักษณะเด่นเฉพาะที่ไม่เหมือนกับผู้ใด ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้มีการสร้างขยาย เส้นทางรถไฟสายใต้จากจังหวัดเพชรบุรีไปยังปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศมาเลเซีย ตอนเหนือและเส้นทางแยกไปยังอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อีกเส้นหนึ่ง บิดาของท่านซีกิมหยง คือนายซียิซาน และนายชีจือถังเป็นผู้รับเหมาเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยว่าจ้างบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด เป็นผู้จัดสร้าง

เมื่อสร้างทางรถไฟสายใต้เสร็จ “ชียิซาน” ได้ไปตั้งรกรากที่สงขลา นายชีกิมหยง ซึ่งในขณะนั้นยังมีอายุเพียง ๒๐ ปี แต่ด้วยสายตาอันแหลมคม ได้เห็นลักษณะภูมิประเทศของเมืองหาดใหญ่มีทำเลดีอุดมสมบูรณ์ด้วยทางน้ำไหลผ่านและมีภูเขา ตรงตามลักษณะฮวงจุ้ยของจีน ประกอบกันเป็นจุดกึ่งกลางการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และในอนาคตบริเวณนี้น่าจะเป็นเมืองชุมชนที่ใหญ่โตแน่ ดังนั้นนายชีกิมหยง จึงได้ซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก และร่วมกันบุกเบิกเมืองหาดใหญ่ให้เจริญขึ้นร่วมกับบุคคลอีก ๒ ท่าน

บุคคล ๒ ท่านที่กล่าวถึงนี้คือ นายแจซูชื่อและพระเสน่หามนตรี จนกระทั่งสามารถทำให้ตลาดหาดใหญ่แห่งใหม่มีคนมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายกันมากขึ้น ท่านจึงเห็นว่าควรพัฒนาในด้านอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย ท่านจึงบริจาคที่ดินเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาให้แก่โรงเรียนศรีนคร ๒ แปลง

นอกจากนี้ยังมอบให้มูลนิธิองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนแสงทอง มูลนิธิซุนยัดเซ็น คริสตจักรหาดใหญ่ โรงเจกิ้วซื่ออำ และยังมอบที่ดินอีกหลายแปลเพื่อสร้างถนนหนทางอีก ๑๐ สาย

cheegimyong_wife-hs-shop

นายชีกิมหยงเป็นคนที่ขยันทำงาน ตลอดระยะเวลาท่านได้ทุ่มเทให้กับการทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อนร่างกายที่ตรากตรำ จากการทำงานมาช้านานก็อ่อนแอลง จนในที่สุดท่านก็ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งภายหลังจากการถึงแก่กรรมของคุณชีกิมหยง นางละม้าย ฉัยยากุล ผู้เป็นภรรยาก็ต้องรับภารกิจสืบต่อมาผู้เป็นสามีสานต่องานต่างๆ ตามเจตจำนงของสามีที่ตั้งไว้ ในส่วนของที่ดินที่คุณซีกิมหยงได้มอบให้แก่สมาคมมูลนิธิต่างๆ ที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ถือครองเป็นที่เรียบร้อยเพื่อให้ทรัพย์สินเหล่านั้นตกเป็นของส่วนรวมและสาธารณกุศลได้

นี่คืออีกส่วนหนึ่งของประวัติเมืองหาดใหญ่เมืองที่มี “ชีกิมหยง” มาร่วมลงแรงด้วยคนหนึ่งจนสามารถเจริญเติบโตได้ดังที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ ที่มีชื่อ “ชีกิมหยง” หรือ ฉัยยากุล หรือ “ศุภสาร” ปรากฏอยู่ รวมทั้งส่วนของรูปปั้นรูปเหมือนที่เด่นสง่าอยู่หน้าโรงเรียนศรีนครอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดย pichaisrisai เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2549 22:27:48 น.

รายละเอียดเพิ่มเติม http://hakkapeople.com/node/60