มัทฉะ คือ ชาเขียวนั่นเอง มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Camellia sinensis เพียงแต่ว่า มัทฉะ เป็นผงบดละเอียด ของชาเขียว ชนิดที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คือ อยู่ในที่ร่ม ได้รับการเก็บเกี่ยว และผึ่งเย็น อย่างดี ทำให้มีรสชาติ หวานหอมอร่อย พิเศษสุด

ชาทำนองนี้ มีหลายชนิด ทุกชนิด จะได้จากการปลูกแบบประคบประหงม ภายในร่มก่อนที่จะเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้กลิ่นและรสที่ดีที่สุด กล่าวคือ หลังจากที่ใบชาเริ่มแตกยอดนั้นจะไม่ให้ยอดใบชาถูกแสงแดด ทำให้ชลอการเติบโตของใบชา เป็นผลทำให้ใบชามีสีเขียวเข้มขึ้น มีการสร้างกรดอะมิโนซึ่งทำให้ใบชามีรสหวานขึ้น แล้วเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะใบชาที่ดีที่สุดด้วยมือ หลังจากนั้นแล้ว ถ้าใบชามีลักษณะ ที่ม้วนงอ ก็จะถูกจัดเกรดเป็น เคียวกูโระ Gyokuro เป็นชาเขียวญี่ปุ่นที่ถือได้ว่า เป็นชาชั้นสูงที่สุด

ถ้าใบชา ไม่ม้วนงอ แต่แผ่ออกเป็นใบ ก็จะไปอบ แล้วป่นออกเป็นผง ซึ่งจะเรียกชาส่วนนี้ว่า เทนฉะ (tencha)

หลังจากนั้น ถ้านำไปบดให้เป็นผงละเอียดด้วยครกหิน จนมีลักษณะเป็นผงละเอียดคล้ายแป้ง มีสีเขียวอ่อน ๆ จึงจะเป็นชาที่เรียกว่า มัทฉะ

 

ดังนั้นเมื่อพูดถึงมัทฉะแล้ว ก็จะหมายถึงใบชาญี่ปุ่นชั้นดีที่บดละเอียด และเป็นชาที่ถูกนำไปใช้ในพิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่น มีพิธีการ อุปกรณ์ และวิธีชงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากข้อมูลกระบวนการผลิตมัทะดังกล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า มัทฉะเป็นใบชาบดผง ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในพิธีชงชาก็จะใช้ผงมัทฉะมาละลายเลย ดังนั้นการดื่มมัทฉะจึงเป็นการรับประทานใบชาทั้งใบ ต่างจากการดื่มชาแบบอื่นที่จะใช้ใบชาชงกับน้ำร้อน แล้วดื่มเฉพาะน้ำชา ส่วนกากใบชาก็จะถูกทิ้งไป

 

ปัจจุบันนี้ ได้มีการประยุกต์นำ มัทฉะ มาทำเป็นเครื่องดื่ม โดยทำเป็นผงมัทฉะบรรจุอยู่ในซอง เวลาจะรับประทาน ให้เทผงมัทฉะลงในขวดน้ำเปล่า หรือน้ำแร่ จากนั้นก็เขย่าให้ผงละลายจนเข้าดีแล้วก็จะได้ชาเขียวมัทฉะที่มีรสชาติและ ความหอมเฉพาะตัว รสชาติของ มัทฉะ จะเข้ม ขมเล็กน้อย (ขมแบบชา) มีกลิ่นหอมกว่าชาเขียวทั่วไป มีสีเขียวขุ่น ไม่ใส เหมือนชาเขียวที่ได้จากการชงแบบอื่น ๆ เช่น ชงโดยใช้ถุงชา (tea bag) และมีตะกอนอยู่บ้าง นับได้ว่าเป็นอีกวิถีทางหนึ่งในการดื่มชาเขียว ที่ง่าย สะดวก ได้ประโยชน์จากชาเขียวทั้งหมด เนื่องจากเป็นการรับประทานใบชาทั้งใบ อีกทั้งมีกลิ่นที่หอม รสชาติที่อร่อย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

คุณประโยชน์ของมัทฉะ ก็จะเหมือนใบชาทั่วไป ให้ประโยชน์แก่ร่างกายมากมายหลายประการ โดยมีสารสำคัญที่ทำให้เกิดประโยชน์ (Active Health Component) ที่เรียกว่า โพลีฟีนอล (Polyphenols) หรือเรียกกันทั่วไปว่า คาเทชิน (Catechins) ซึ่ง Catechins นี้จะมีปริมาณ 30-40 % ของส่วนที่เป็นของแข็งที่สามารถสกัดได้จากใบชาเขียวแห้ง

 

คาเทชินที่อยู่ในชาเขียว ประกอบไปด้วย Epigallocatechin-3-gallate (EGCG), Epicatechin-3-gallate, Epicatechin, Epigallocatechin, Gallocatechin gallate and Catechin ในทั้งหมดนี้ สารที่มีมากที่สุดคือ Epigallocatechin-3-gallate หรือ อี จี ซี จี (EGCG) ขนาดใบชาเขียวแห้ง 1 ซอง (1.5 กรัมต่อซอง) จะให้ EGCG ประมาณ 35 – 110 mg (อ้างอิงที่ 2) EGCG นับได้ว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในชาเขียว และมีปริมาณมากที่สุด (อ้างอิงที่ 3) มีความแรงของการต้านอนุมูลอิสระมากกว่า วิตามินซี และวิตามินอี 25-100 เท่า การรับประทานชาประมาณ 1 แก้วต่อวัน จะให้สารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการรับประทาน แครอท บรอคเคอรี ผักโขม และสตรอเบอร์รี ในขนาดที่รับประทานในแต่ละมื้อ (อ้างอิงที่ 4) ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากมายถึงประโยชน์ของสารสำคัญตัวนี้ อาทิเช่น

 

* ช่วยลดความอ้วน ด้วยกลไกของการกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (Stimulates Fat Oxidation) มีรายงานวิจัยที่มีข้อมูลสนับสนุนว่า EGCG ช่วยเพิ่มกระบวนการ การเผาผลาญพลังงานของเนื้อเยื่อไขมัน และมีรายงานการทดลองในคนแล้วว่า ช่วยลดความอ้วนได้(อ้างอิงที่ 5-8) นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ทำในคนไทย โดยแบ่งผู้ที่น้ำหนักเกินเป็นสองกลุ่ม ได้รับสารสกัดชาเขียว และยาปลอม กลุ่มที่ได้รับชาเขียวมีน้ำหนักน้อยกว่า 2.7, 5.1 และ 3.3 ก.ก. ในสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 ของการวิจัย ( อ้างอิงที่ 9)

 

* ช่วยลดไขมันในเลือด แม้จะลดไขมันในเลือดได้ไม่มากนัก แต่ก็มีงานวิจัยที่ดีรองรับสองงานวิจัย ในงานวิจัยแรก พบว่า เมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มชาในปริมาณปานกลางหรือปริมาณมากร่วมด้วย จะลดปริมาณ ไขมันในเลือดชนิด ไตรกลีเซอไรด์ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 6 ชั่วโมงหลังทานอาหารและดื่มชา โดยลดการเพิ่มระดับของไขมันชนิด ไตรกลีเซอรไรด์ในเลือดได้ถึง 15.1-28.7% (อ้างอิงที่10) อีกงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มชาประมาณ สองถ้วยต่อวัน สามารถลดไขมันในเลือดชนิดโคเลสเตอรอลลงได้เล็กน้อย (119.9 เป็น 106.6 มก./ดล.) แต่ก็มีนัยสำคัญทางคลินิก (อ้างอิงที่ 11)

 

* ช่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน มีรายงานวิจัยว่า สารสำคัญในชาเขียว สามารถลดการหดเกร็งของเส้นเลือดฝอย ลดการเกิดตะกอน (Plaque) ในเส้นเลือดฝอย ทำให้ลดอุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (Myocardial Infarction) และอัมพฤกษ์ อัมพาตจากเส้นเลือดตีบตัน (Stroke) (อ้างอิงที่ 12-16) นอกจากนี้ EGCG ยังเป็นตัวยับยั้งการเกิด การสันดาป Oxidation ของโคเลสเตอรอล ทำให้ลดการเกิด การสะสมสร้างตะกอน (Plaque) ในเส้นเลือดจากโคเลสเตอรอล ทำให้ลดการเกิด เส้นเลือดแข็งตัวตีบตัน (Atherosclerosis) และลดอุบัติการณ์ของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Coronary Atherosclerosis) (อ้างอิงที่ 17-19) ในงานวิจัยในสัตว์ทดลองยังลดการเกิดเส้นเลือดในปอดตีบตัน (Pulmonary Thrombosis) อีกด้วย (อ้างอิงที่ 15) ส่งให้เป็นผลดีต่อสุขภาพของหลอดเลือดหัวใจ ไม่นานนี้มีงานวิจัยทางระบาดวิทยาในคนญี่ปุ่น พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียว จะลดการเกิดโรคเส้นเลือดทางสมองทั้งโรคเส้นโลหิตในสมอง แตก (Cerebral hemorrhage) และเส้นเลือดสมองตีบ (Cerebral infarction) ได้จริง (อ้างอิงที่ 20)

 

* ต่อต้านอนุมูลอิสระ และต่อต้านมะเร็ง (Antioxidant and Anticancer) ชาเขียวมีผลต่อการยับยั้งการเกิดมะเร็งได้หลายชนิดทั้งในคนและสัตว์ เพราะมีฤทธิ์ทางด้านการต้านอนุมูลอิสระอย่างมาก จากการวิเคราะห์งานวิจัยที่เชื่อถือได้ของ Cochrane Database ตีพิมพ์ล่าสุด จำนวน 51 งานวิจัยทั่วโลก แม้จะมีจำนวนงานวิจัยที่จำกัด พบว่าการดื่มชาเขียว ลดอุบัติการณ์เกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อน (อ้างอิงที่ 21)

 

ข้อห้าม หรือข้อควรควรระวัง ของมัทฉะ

เนื่องจาก มัทฉะ เป็นชาที่บดจากใบชาโดยตรง จึงยังคงมีคาเฟอีน ได้เล็กน้อย คล้ายกับกาแฟ ข้อห้ามจึงคล้ายกับกาแฟ คือ ผู้ที่ทาน กาแฟ แล้วใจสั่น นอนไม่หลับ ก็ไม่ควรรับประทานมัทฉะ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ชนิดที่มีหัวใจเต็นเร็ว และโรคไทรอยด์เป็นพิษ ในระยะที่ยังคุมไม่ได้ และมีใจสั่น หัวใจเต็นเร็ว ก็ไม่ควรรับประทาน น้ำชา กาแฟ รวมทั้งมัทฉะ เช่นกัน

ที่มา https://www.facebook.com/notes/pakin-thongwai/149906255069486/